ยาตำรับชิงเฟ่ยผายตู๋ทังได้รับการประกาศจากคณะกรรมการสาธารณสุขและทบวงการแพทย์แผนจีนให้เป็นตำรับกลางที่ใช้ได้กับผู้ป่วยโควิด-19 การวิเคราะห์และวิจัยทางเภสัชวิทยาของตำรับดังกล่าวได้มีการตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์แผนจีนฉบับที่ 14-2020 เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
ประเทศจีนได้มีการใช้ยาสมุนไพรจีนในการรับมือกับโรคไวรัสปอดอักเสบสายพันธุ์ใหม่หรือ โควิด-19 โดยมีการนำยาและตำรับยาจำนวนมากมาคัดกรองเพื่อหายาที่มีประสิทธิผล ต่อมาคณะกรรมการสาธารณสุขของจีนร่วมกับทบวงการแพทย์แผนจีนแห่งชาติได้แนะนำยาจีนตำรับชิงเฟ่ยผายตู๋ทังในแนวทางการรักษาโรคโควิด19 แห่งชาติที่ออกติดต่อกันมาหลายฉบับโดยฉบับล่าสุดเป็นฉบับที่แปด หลี่ชุ่นโปและคณะจากมหาวิทยาลัยแพทย์จีนกานซู่ได้ทำการรวบรวมข้อมูลทางเภสัชวิทยาขององค์ประกอบในยาตำรับดังกล่าว ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Traditional Chinese Medicine (ภาษาจีน) ฉบับเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา(*)
ความเป็นมา
ธันวาคม 2562 ประเทศจีนได้เกิดโรคระบาดที่ปัจจุบันเรียกย่อว่าโควิด19
28 มกราคม 2563 คณะกรรมการสาธารณสุขจีนและทบวงการแพทย์แผนจีนแห่งชาติได้ร่วมกันออกประกาศเรื่องการบูรณาการการแพทย์แผนปัจจุบันกับแพทย์แผนจีนในการรักษาโรคโควิด19 และให้มีการวิจัยเพื่อคัดกรองตำรับยาจีนที่มีประสิทธิผลในการป้องกันรักษาโรคปอดอักเสบจากไวรัสโควิด19[1]
7 กุมภาพันธ์ 2563 คณะกรรมการสาธารณสุขร่วมกับทบวงการแพทย์แผนจีนแห่งชาติได้ออกประกาศว่าจากการติดตามผลการรักษาทางคลินิกจึงแนะนำให้มีการใช้ยาตำรับชิงเฟ่ยผายตู๋ทังในท้องที่ต่างๆ ทั่วประเทศ[2]
ระหว่างวันที่ 2 – 17 กุมภาพันธ์ หน่วยการแพทย์ 57 แห่งใน 10 มณฑล ได้มีการใช้ยาตำรับชิงเฟ่ยผ่ายตู๋ทังรักษาผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันว่าเป็นโควิด19 จำนวน 701 ราย ในจำนวนนี้มีผู้ป่วย 130 รายที่ได้รับการรักษาจนหายดีและออกจาก รพ.ได้ ในขณะที่ 51 ราย อาการป่วยหายไป 268 รายอาการดีขึ้น 212 ราย อาการคงที่โรคไม่ทรุดหนักลง[3]
ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่สังกัดไวรัสโคโรน่าแบบเบต้า มีโครงสร้างคล้ายกับไวรัสโคโรน่าโรค SARS ถึง 79% และอาศัย Angiotensin Converting Enzyme 2 receptor, ACE2 ในการเข้าสู่เซลล์ของร่างกายเหมือนกัน[4]
ปอดอักเสบจากโควิด19 ติดต่อโดยทางเดินหายใจและการสัมผัส ติดต่อระหว่างคนได้ง่าย มีอาการสำคัญได้แก่ เป็นไข้ อ่อนเพลีย ไอแห้ง ร่วมกับอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล เจ็บคอ ร่วมกับอาการของทางเดินอาหาร ในรายที่หนักจะมีอาการหายใจลำบาก ซึ่งจะพัฒนาหนักเป็นภาวะระบบหายใจถูกกดทับ กระทั่งช็อคได้
การตรวจทางเนื้อเยื่อวิทยาพบแต่แรกว่า ถุงลมปอดของผู้ป่วยโควิด-19 เกิดความเสียหายโดยทั่ว เซลล์เยื่อบุผิวหลอดลมหลุดลอกออก ขนบุหลอดลมหลุดร่วง เซลล์เยื่อบุเปลี่ยนเป็นแบบหลายเหลี่ยมสความัส squamous ที่หลอดลมกับบริเวณรอบเซลล์ในปอดส่วนใหญ่มีเซลล์ฟาโกไซต์และเม็ดเลือดขาวแทรกซึมเข้าปริมาณมาก[5] สภาพทางพยาธิวิทยาเหล่านี้ได้ใช้เป็นพื้นฐานในการศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของยาตำรับชิงเฟ่ยผายตู๋ทัง
องค์ประกอบของยา ยาตำรับชิงเฟ่ยผายตู๋ทังประกอบขึ้นจากตำรับยาในคัมภีร์โบราณที่ใช้รักษาโรคจากความเย็นที่เป็นปัจจัยก่อโรคจากภายนอกจำนวน 4 ตำรับได้แก่ ตำรับเสี่ยวไฉหูทัง ตำรับหมาซิ่งสือกานทัง ตำรับเส้อกานหมาหวงทัง และตำรับอู๋หลิงส่าน (โดยมีการปรับเพิ่มและลดยาได้แก่ ลดเหรินเซิน ต้าเจ่า อู่เว่ยจือ เพิ่มซานเย่า จื่อสื่อ เฉินผี ฮั่วเซียง)
ยาตำรับชิงเฟ่ยผายตู๋ทัง ประกอบด้วยตัวยาและปริมาณที่ใช้ดังต่อไปนี้ (หน่วยน้ำหนักเป็นกรัม)
หมาหวง 9 (ต้มภายหลัง) จื้อกานเฉ่า 6 ซิ่งเหริน 9 เซิงสือเกา 15-30 (แยกต้มก่อนยาตัวอื่น) กุ้ยจือ 9 เจ๋อเซี่ย 9 จูหลิง 9 ไป๋จู๋ 9 ฝูหลิง 15 ไฉหู 16 หวงฉิน 6 เจียงป้านเซี่ย 9 เซิงเจียง 9 จื่อหว่าน 9 ขว่านตงฮัว 9 เส้อกาน 9 ซี่ซิน 6 ซานเย่า 12 จื่อสือ 6 เฉินผี 6 ฮั่วเซียง 9 ต้มรับประทานวันละ 1 เทียบ(**) แบ่งทานเช้าเย็น
การวิจัยทางเภสัชวิทยาของยาตำรับชิงเฟ่ยผายตู๋ทัง แม้ว่ากลไกก่อโรคของไวรัสโควิด 19 ยังไม่ชัดเจน แต่เป็นที่แน่ชัดว่าเมื่อติดเชื้อแล้วมีกระบวนการอักเสบเกิดขึ้น ดังนั้นการต้านไวรัสกับต้านอักเสบจึงเป็นปมเงื่อนสำคัญของการรักษาโรคนี้ ยาตำรับชิงเฟ่ยไผตู๋ทัง มีองค์ประกอบในตำรับที่มีการวิจัยมาก่อนว่ามีบทบาทดังต่อไปนี้
ยาตำรับหมาซิ่งสือกานทัง มีสรรพคุณในการต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ ต้านอักเสบ แก้ไอ และปรับการสนองตอบของภูมิคุ้มกัน [อ้างอิงจาก หวงเซี่ยวเจี๋ย เหว่ยกัง วารสารสถาบันเภสัชศาสตร์กว่างตง 2014, 30(1):110-114][11]
ยาตำรับเส้อกานหมาหวงทัง มีสรรพคุณ ระงับหอบ บรรเทาอาการทางเดินหายใจ [อ้างอิงจาก ซินเฟิ่ง วารสารข่าวสารการแพทย์โลกล่าสุด 2016,16(21):154][12]
ยาตำรับอู่หลิงส่าน มีบทบาทต้านอักเสบ [อ้างอิงจากฟ่านอี้หว่าง,วารสารมหาวิทยาลัยแพทย์จีนกว่างโจว,2012] [13]
ยาตำรับเสี่ยวไฉหูทัง มีสรรพคุณลดไข้ระงับปวดต้านอักเสบ [อ้างอิงจากเฉินผิงอันและคณะ วารสารเภสัชวิทยาประเทศจีน,2019,47(4);28-32 ] [14]
1. บทบาทต้านอักเสบงานวิจัยของหลี่หลิงพบว่ายาตำรับหมาซิ่งสือกานมีบทบาทผ่านการเพิ่มสมรรถนะของภูมิคุ้มกัน ปรับปรุงการแสดงออกและการขับสารไซโทคายน์(Cytokine) ในการบรรเทาอาการอักเสบที่ปอด ปรับปรุงปอดของหนูทดลองที่ป่วยเป็นปอดอักเสบจากไวรัสไข้หวัดใหญ่ให้ดีขึ้น [หลี่หลิงและคณะ, วารสารภูมิคุ้มกันวิทยาประเทศจีน, 2018,34(8) : 1168-1173] [15]
งานวิจัยของฟ่านหรงหรง รายงานว่าตำรับเส้อกานหมาหวง รักษาหอบหืดของหลอดลมโดยปรับปรุงการส่งสัญญาณผ่านวิถีของการอักเสบที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกัน [อ้างอิง ฟ่านหรงหรงและคณะ,วารสารแพทย์จีนเหลียวหนิง,2019,46(10) : 2131-2137,2238] [16]
งานวิจัยของหยางซั่วรายงานว่า ยาตำรับเส้อกานหมาหวงผ่านการปรับ T cell CD4/CD8, Interlukine5 (IL-5) ปรับการแสดงของ interlukine10 (IL-10) ในการปรับปรุงสมรรถนะของเซลล์ภูมิคุ้มกันของร่างกายในหนูทดลองที่เป็นหืดสังกัดกลุ่มอาการเย็น [หยางซั่วและคณะ,วารสารแพทย์จีนรอบโลก, 2015,8(8) : 912-915][17]
ยาตำรับเส้อกานหมาหวง มีบทบาทผ่านผ่านการปรับ Interlukine 17-A, IL-17A Tumour Necrosis Factor alpha,TNF-alfa Interlukine-6,IL-6, เพิ่ม Interlukine-10,IL-10 ยับยั้งการจับกลุ่มของเซลล์ที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบในหลอดลมของหนูทดลอง จึงสามารถบรรเทาปฏิกิริยาอักเสบ [สุยโป๋เหวินและคณะ,วารสารอาการเฉียบพลันแพทย์แผนจีนประเทศจีน ฉบับ 2017, 26(4) : 581-583, 618 และฉบับ 2017,26(5) : 783-785, 822 ][18-19] ปรับปรุงการแสดงของThymic stromal lymphopoietin,TSLP Toll-like receptor 4,TLR4 nuclear factor kappa-light-chain-enhancer of activated B cells, NF-κB [เฉินหาวและคณะ, รายงานวิชาการมหาวิทยาลัยแพทย์จีนกว่างโจว, 2020,37(2) : 317-323,][20]
เฉินข่าย [วารสารการวิจัยตำรับยาประเทศจีน 2019,25(19) :138-146] [21] ใช้การวิเคราะห์ทาง network pharmacology พบว่ายาตำรับอู่หลิงส่านอาจผ่านการปรับปรุงเป้าหมายที่ Transforming growth factor beta 1,TGF-β1 Caspase-3 ควบคุม Tumour Necrosis Factor,TNF Interlukine-17,IL-17 nuclear factor kappa-light-chain-enhancer of activated B cells, NF-κB ซึ่งเป็นวิถีการส่งสัญญาณ(signal pathway) ที่เกี่ยวกับการอักเสบ จึงสามารถยับยั้งปฏิกิริยาการอักเสบ ปรับปรุงการสนองตอบของระบบภูมิคุ้มกัน
งานวิจัยของเฉินผิงอัน [รายงานวิชาการแพทย์แผนจีน,2019,47(4) : 28-32] [14] พบว่ายาตำรับเสี่ยวไฉหูทังสามารถบรรเทาระดับความเสียหายและการอักเสบของเนื้อเยื่อปอดในหนูทดลอง กลไกในการออกฤทธิ์อาจผ่านการระงับ Interlukine-1 beta,IL-1 beta Interlukine-6,IL-6 Tumour Necrosis Factor alpha,TNF alfa และขับสาร Granulocyte-colony-stimulating factor,G-CSF
จากข้างต้นจะเห็นได้ว่า องค์ประกอบในยาตำรับชิงเฟ่ยผายตู๋ทังมีบทบาทในการต้านการอักเสบ เมื่อนำมาประกอบเป็นตำรับชิงเฟ่ยผายตู๋ทังจึงต้องมีการวิจัยฤทธิ์ของยาทั้งตำรับในการต้านการอักเสบและปรับปรุงการตอบสนองของภูมิคุ้มกันต่อไป
2. บทบาทต้านไวรัสงานวิจัยของจางซื่ออิงและคณะ[วารสารการแพทย์แผนจีนประเทศจีน 2019, 25(19) : 138-146][22] พบว่ายาตำรับหมาซิ่งสือกานสามารถต้านไวรัสโดยผ่านการปรับปรุงระดับการหลั่งและการแสดงของโปรตีนของ Interferon alpha,IFN-alfa, Interferon beta, IFN-beta ของไวรัสไข้หวัดใหญ่
งานวิจัยของซุนเจี้ยนหมิน [วารสารแพทย์จีนเหอหนาน, 2016, 36(5) : 766-767][23] พบว่าอู่หลิงส่านมีฤทธิ์ต้าน Rotavirus โดยการปรับปรุงการตอบสนองของภูมิคุ้มกัน
งานวิจัยของเฉินยาซี [วารสารโรคตับการแพทย์แผนจีนประสานแผนปัจจุบัน 2000,10(2) : 17] [24] ทำการทดลองในเป็ดป่วยตับอักเสบแบบบี พบว่าเสี่ยวไฉหูทังมีบทบาทต้านการพิมพ์ซ้ำเพื่อเพิ่มจำนวนของไวรัสโดยตรง
การวิจัยทาง network pharmacology จากวารสารยาสมุนไพรจีน 2020,51 (4) ; 829-835[25] พบว่าในตำรับชิงเฟ่ยผายตู๋ทังมีส่วนประกอบทางเคมีถึง 948 ชนิด ส่วนประกอบเหล่านี้จะออกฤทธิ์ต่อโปรตีนเป้าหมายที่แฝงอยู่ 790 ชนิด เป้าหมายเหล่านี้ส่งผลต่อกันและประกอบขึ้นเป็นเครือข่ายโมเลกุลหนึ่งขึ้น และพบว่าส่วนประกอบที่เป็นสารออกฤทธิ์ในยาจีนจำนวนมากส่งผลต่อการแทรกเข้าเซลล์ร่างกายและการเพิ่มจำนวนของไวรัส ส่งผลต่อสารที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบที่ทำให้อวัยวะจำนวนมากเสียหาย ชิงเฟ่ยผายตู๋ทังอาจผ่านการปรับปรุงวิถี (pathway) ที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันรวมทั้งวิถีไซโทคายน์ (cytokine pathway) ทำให้สามารถระงับการทำงานของ cytokine ลดปฏิกิริยาภูมิคุ้มกันที่มากเกินไป ขจัดการอักเสบ งานวิจัยข้างต้นเป็นข้อมูลสนับสนุนบทบาทของยาตำรับชิงเฟ่ยผายตู๋ทังในการต้านไวรัส
บทรายงานข้างต้นเป็นการรวบรวมข้อมูลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการออกฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาขององค์ประกอบยาในตำรับชิงเฟ่ยผายตู๋ทัง เป็นพื้นฐานสำหรับการวิจัยบทบาทและกลไกการออกฤทธิ์ของยาตำรับนี้ต่อไป
เรียบเรียงโดย แพทย์จีน เภสัชกร สุทธิศักดิ์ ปวราธิสันต์ มังคละโอสถสหคลินิก
(*) Li Chun Bo, Su Wen, Liu Yong Qi etc. คณะการแพทย์พื้นฐานมหาวิทยาลัยแพทย์จีนกานซู่. Journal of Traditional Chinese Medicine, 2020, Vol 6, No 15 : 1299-1302
(**)หมายเหตุโดยผู้เรียบเรียง ยาตำรับนี้ต่อมาทางทบวงการแพทย์แผนจีนได้ออกคำแนะนำว่า เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพที่ต้องการจึงให้ทำการต้มเครื่องยาทั้งหมดพร้อมกัน โดยปฏิบัติตามข้อกำหนดสำหรับตัวยาที่ต้องต้มก่อนและต้มภายหลังอย่างเคร่งครัด เข้าใจว่าการต้มยาทั้งหมดรวมกันจะทำให้ได้สารประกอบออกฤทธิ์ตัวใหม่ที่มีผลในการรักษาโรค การนำเครื่องยาแต่ละตัวมาจัดผสมกันอย่างง่ายๆ (อย่างเช่นการใช้ยาแกรนูลเป็นตัวๆ มาชงรับประทานหรือบรรจุในแคปซูล) โดยไม่ผ่านการต้มพร้อมกันอาจทำให้ได้ยาที่ไม่มีประสิทธิผลเท่าที่ควร การจะทำเป็นยาแกรนูลสำหรับชงรับประทานหรือทำเป็นยาสำเร็จรูปใดๆ ควรผ่านขั้นตอนในการต้มเครื่องยาทั้งหมดรวมกันก่อน
(Abstract และเอกสารอ้างอิงอยู่ในหน้าถัดไป)