เมื่อมาพบแพทย์จีนจะได้ยินคำว่า “ปอด หัวใจ ม้าม ตับและไต” อยู่เสมอ   โดยแพทย์จีนจะทำการซักประวัติ ตรวจร่างกาย จับชีพจร สังเกตลิ้น ฯลฯ แล้วทำการประมวลและสังเคราะห์ว่า ระบบการทำงานของร่างกาย 5 ระบบนี้ มีความผิดปกติหรือเกิดพยาธิสภาพขึ้นหรือไม่อย่างไร  แต่ความหมายของปอด หัวใจ ตับ ม้ามและไต นี้มีความแตกต่างกับความรู้ทางสรีระ และกายวิภาควิทยาในปัจจุบัน

 

ระบบการทำงาน 5 ระบบของร่างกาย

                ศาสตร์การแพทย์แผนจีนได้กล่าวถึง “อู่จ้าง”  ซึ่งใช้ชื่อตามอวัยวะภายในที่สำคัญว่า ปอด หัวใจ ม้าม ตับและไตว่าทำหน้าที่ควบคุมการทำงานต่างๆ ในการดำเนินชีวิต  โดยแยกการทำงานได้เป็น

                ปอด ควบคุมการทำหน้าที่ของระบบหายใจ  และการกระจายตัวของน้ำในร่างกาย

                หัวใจ ควบคุมการทำหน้าที่ของระบบการไหลเวียนโลหิต   และเกี่ยวข้องกับจิตใจ

                ม้าม ควบคุมการทำหน้าที่ของระบบย่อยอาหาร

                ตับ ควบคุมการไหลเวียนของชี่และเลือดให้คล่อง   ควบคุมอารมณ์และจิตใจให้ผ่องใส

                ไต  ควบคุมการทำหน้าที่เจริญเติบโต  การเจริญพันธุ์ และระบบปัสสาวะ

                จากข้างต้นจะเห็นได้ว่า “อู่จ้าง” ที่เรียกชื่อตามอวัยวะนั้นมีหน้าที่การทำงานที่กว้างขวางกว่าหน้าที่ของตัวอวัยวะตามความเข้าใจทางสรีรวิทยาปัจจุบันมาก   “อู่จ้าง” จึงมีความหมายเป็นระบบการทำงานใหญ่ของร่างกาย 5 ระบบ ซึ่งมีหน้าที่และการทำงานที่ครอบคลุมระบบทางสรีรวิทยาปัจจุบันหลายระบบด้วยกัน 

 

ความแตกต่างระหว่างคำว่า กับ

                คำสองคำนี้เป็นคำพ้องเสียงที่อ่านว่า zàng เหมือนกัน  อีกทั้งความหมายก็ใกล้เคียง  แต่ก็มีนัยยะที่แตกต่างกัน

                藏  เดิมมีความหมายว่าที่เก็บสะสมสมบัติล้ำค่า  เมื่อนำเข้ามาใช้ในทางการแพทย์จึงหมายถึงเนื้อเยื่ออวัยวะที่สำคัญภายในร่างกายที่ทำหน้าที่เก็บรักษาจิงชี่    คำว่า“จ้าง” นี้มักใช้ควบคู่กับคำว่า “ 腑-ฝู่”  ซึ่งเป็นอวัยวะที่ไม่ทำการเก็บรักษาจิงชี่แต่ทำการส่งผ่านเท่านั้น   ในคัมภีร์แพทย์จีนดั้งเดิมจึงใช้แต่คำว่า 藏腑      ภายหลังจากสมัยราชวงศ์เหนือใต้เป็นต้นมาจึงได้มีการเขียนที่เปลี่ยนไปจากเดิมและต่อมาได้มีการปรับลดขีดเพื่อให้เขียนง่ายขึ้นจนกลายเป็น 脏     ยิ่งเมื่อการแพทย์แผนตะวันตกได้แพร่เข้ามาได้มีการใช้คำ 脏 ที่หมายถึงอวัยวะตามกายวิภาค   ทำให้ความหมายเดิมของ 藏 ค่อยๆ เลือนไป     ในภาษาไทยก็มีการแปลคำว่า “อู่จ้าง” เป็นอวัยวะตันทั้งห้า หรืออวัยวะที่มีเนื้อแน่นทั้งห้า   กับลิ่วฝู่หรืออวัยวะกลวงทั้งหกหรืออวัยวะที่มีช่องภายใน   เหล่านี้ทำให้เกิดความสับสนว่าอู่จ้างคืออวัยวะตามกายวิภาคเท่านั้น     จึงเป็นเนื้อหาที่ผู้ศึกษาแพทย์จีนควรทำความเข้าใจในความแตกต่างนี้ให้ชัดเจน

 

“จ้างเซี่ยง” 藏象

                การทำความเข้าใจต่อร่างกายปราชญ์ทางแพทย์แผนจีนในสมัยก่อนได้ใช้วิธี “สังเกตสิ่งที่ปรากฏออกมาที่ภายนอกไปทำความเข้าใจสิ่งที่อยู่ภายใน”   ในความหมายนี้ “จ้าง” จึงหมายถึงระบบการทำงานที่อยู่ภายในร่างกาย และ “เซี่ยง” คือการแสดงออกต่างๆ ที่ปรากฏออกมาภายนอก   บทเรียนที่บรรยายถึงการทำงานของระบบทั้งห้านี้จึงใช้ชื่อบทว่า “จ้างเซี่ยง” 

                ควรต้องย้ำอีกว่าในศาสตร์การแพทย์แผนจีนที่อธิบายสรีระของร่างกายนั้นถือการทำงานเป็นตัวนำ  ส่วนตัวเนื้อเยื่อและอวัยวะเป็นตัวประกอบ    ดังเช่น

                 ระบบปอด หมายถึงการทำงานของเนื้อเยื่ออวัยวะในระบบหายใจทั้งหมด + การผลักดันชี่และน้ำให้กระจายไปทั่วร่างกาย  

                  ระบบหัวใจ หมายถึงการทำงานของเนื้อเยื่ออวัยวะในระบบหัวใจและหลอดเลือดทั้งหมด + การทำหน้าที่ของจิต    

                  ระบบม้าม ม้ามของแพทย์จีนทำหน้าที่ควบคุมระบบย่อยอาหาร   ต่างไปจากม้ามทางกายวิภาคปัจจุบันที่ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับหน้าที่นี้   ในกรณีนี้ม้ามของแผนจีนมีความใกล้เคียงกับการทำหน้าที่ย่อยอาหารของตับอ่อนที่เป็นต่อมหนึ่งในระบบย่อยอาหาร และกระเพาะอาหารมากกว่า

                  ระบบตับทำหน้าที่เป็นแกนกลางในการเชื่อมต่ออวัยวะที่สำคัญต่างๆ   โดยทางด้านบนติดต่อกับหัวใจและปอด  ด้านล่างติดต่อกับไต  ด้านซ้ายติดต่อกับกระเพาะอาหาร(ม้าม)   จึงถือว่าเป็นชุมทางการติดต่อกับอวัยวะที่สำคัญต่างๆ   ระบบตับจึงมีหน้าที่ประสานการทำงานของระบบทั้งหมดดังสรุปเป็นวลีว่า “ตับทำหน้าที่กำกับการขับระบายให้คล่อง – 肝主疏泄”    

                  ระบบไตนั้นเป็นที่แน่ชัดว่ามีความหมายมากกว่าไตในระบบปัสสาวะมาก  และยังทำหน้าที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโต  การเจริญพันธุ์  ซึ่งเกี่ยวข้องกับระบบต่อมไร้ท่อต่างๆ ในร่างกาย   

                 รายละเอียดของแต่ละระบบนี้จะได้กล่าวถึงในบทต่อไป