ผู้เชี่ยวชาญแพทย์จีนเรียกโควิด-19 ในแพทย์แผนจีนว่า โรคหานซืออี้ 寒湿疫 ในระยะใกล้มานี้ ในเมืองไทยเกิดการแพร่ระบาดของโควิดระลอกใหม่ซึ่งมีความเกี่ยวพันกับตลาดค้าสัตว์น้ำที่มีสภาพแวดล้อมเย็นและชื้น เช่นเดียวกับการระบาดใหญ่ระลอกสองในยุโรปโดยเฉพาะอังกฤษที่มีอากาศหนาวเย็นและมีฝน การกำหนดลักษณะของโรคว่าเป็นโรคทางหนาวเย็นและชื้นนี้มีความสำคัญต่อการจัดวางการรักษาในศาสตร์การแพทย์แผนจีน ดังจะเห็นได้ว่าตำรับยาและตัวยาที่ใช้ต้านโควิด-19 มียาที่ใช้ขจัดภาวะชื้นแบบต่างๆ อยู่มาก
ทำไมแพทย์แผนจีนจึงเรียกโรคโควิด-19 ว่า “หานซืออี้ 寒湿疫”
疫-อี้ เป็นคำที่ใช้มาแต่ตำราโบราณ มีความหมายตรงกับคำว่าโรคระบาด
寒-หาน คือความความหนาวเย็น
湿-ซือ คือความชื้น
寒湿疫-หานซืออี้ จึงมีความหมายว่า โรคระบาดที่เกี่ยวกับความหนาวเย็นและความชื้น
ที่ว่าเกี่ยวกับความหนาวเย็นและความชื้นนั้นมีพื้นฐานมาจากลักษณะสองประการ คือ ประการแรก จากลักษณะพิเศษที่เป็นการแสดงออกของโรค กับ ประการที่สอง จากความเกี่ยวข้องกับลักษณะของอากาศและสภาพแวดล้อมที่เกิดโรค
- จากลักษณะพิเศษที่เป็นการแสดงออกของโรค
ในทางแพทย์แผนจีนจะให้ความสำคัญกับอาการแสดงเป็นหลัก ที่สำคัญคือ ลักษณะของลิ้น และลักษณะของชีพจร
ลักษณะของลิ้น ลิ้นของผู้ป่วยมักจะอวบ สีลิ้นอ่อนตรงขอบมีรอยฟัน ฝ้าลิ้นส่วนใหญ่มีสีขาว หนาเหนียวหรือกร่อน 厚腻或腐
(ซ้าย) ลิ้นมีสีอ่อนค่อนข้างคล้ำ ขอบลิ้นมีรอยหยักของฟัน ฝ้าสีขาวค่อนข้างหนา เป็นลักษณะของลิ้นที่แสดงว่าร่างกายมีภาวะเย็นชื้น ม้ามพร่อง
(ขวา) ขอบลิ้นมีรอยหยักของฟัน ฝ้าลิ้นมีสีขาวแผ่คลุมทั้งลิ้น ฝ้าหนาเหนียว แสดงว่าร่างกายมีภาวะชื้นค่อนข้างหนัก ม้ามพร่อง
ชีพจร เป็นแบบลื่น (หวาม่าย-滑脉) หรือ นิ่ม (หรูม่าย 濡脉)
ลักษณะของลิ้นและชีพจรข้างต้น เป็นอาการแสดงของภาวะหนาวเย็นและชื้น ด้วยเหตุนี้จึงอธิบายว่าโรคนี้สังกัดโรคเย็นชื้น 寒湿
ส่วนอาการป่วยอื่นๆ อธิบายได้ว่าเกิดจากความหนาวเย็นและชื้นเข้าไปอุดกั้นที่ระบบปอดกับม้ามและกระเพาะอาหาร
อาการกลัวหนาวเป็นไข้ ปวดเมื่อยตามตัว สังกัดกลุ่มอาการภายนอก(เปี่ยวเจิ้ง) ที่เกิดจากความหนาวเย็นและความชื้นรุกเข้าส่วนภายนอก(เปี่ยว)
อาการแน่นหน้าอก อึดอัด หายใจไม่พอ อ่อนเพลีย ไอแห้งไม่ค่อยมีเสมหะ เป็นอาการแสดงจากการกระจายชี่และพาชี่เข้าสู่ภายในร่างกายของปอดเสียไป จากความหนาวเย็นและความชื้นอุดกั้นระบบปอด
อาการแน่นที่ใต้ลิ้นปี่ คลื่นไส้อยากอาเจียน เบื่ออาหาร ท้องเสีย อุจจาระเหนียวหนืดถ่ายออกไม่คล่อง เป็นอาการแสดงของระบบม้ามเสียการทำหน้าที่ย่อยและดูดซึมและลำเลียงอาหารและน้ำ จากความหนาวเย็นและชื้นปิดกั้นม้าม
ส่วนอาการเป็นไข้ มีข้อพิจารณาว่าในผู้ป่วยโควิด-19 ที่พบว่ามีอาการไข้สูงนั้นมีน้อยราย แม้แต่ในผู้ป่วยที่มีอาการหนักถึงหนักมากก็ยังมีเพียงไข้ต่ำหรือไข้ปานกลางกระทั่งมีที่ไม่มีไข้เลย ซึ่งแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดกับผู้ป่วยโรค SARS และไข้เลือดออกระบาด Epidemic hemorrhagic fever ที่สังกัดโรคเวินเร่ออี้ 温热疫病 (โรคระบาดแบบร้อน)
โรคระบาดแบบร้อนจะมีไข้สูง พิษร้อนรุนแรงเผาผลาญซันเจียว และรุกเข้าสู่ซินเปา(ซึ่งเทียบเคียงได้กับส่วน blood brain barrier ในความรู้ปัจจุบัน) จนทำให้เกิดอาการไข้สูง แล้วเพ้อ ชัก สติคลุมเครือ ไปจนถึงไม่ได้สติ
[โรคไข้เลือดออกในไทยที่มีอาการสำคัญคือไข้สูงลอย จนทำให้เกิดอาการชัก และมีภาวะเสียน้ำหรือยินพร่องก็พิจารณาได้ว่าเป็นโรคที่สังกัดเวินเร่อ ที่พิษร้อนรุนแรงรุกเข้าซินเปาได้เช่นเดียวกัน]
หานซืออี้ ยังมีความแตกต่างกับ หานอี้ ( โรคระบาดจากพิษหนาวเย็น) หานอี้ป็นโรคที่พิษหนาวเย็นควบกับชี่ที่ผิดปกติ(ลี่ชี่) รุกเข้าสู่ร่างกายจากระบบไท่หยางเข้าสู่ระบบหยางหมิงอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดอาการไข้สูง และกลุ่มอาการเป็นแบบร้อนแกร่ง (สือเร่อ)
ในขณะที่โรคหานซื้ออี้ เนื่องจากความเย็นและความชื้นเป็นปัจจัยก่อโรคที่สังกัดยิน ความชื้นมีลักษณะเหนียวหนืด โรคดำเนินแบบยืดยาด ก่อให้เกิดภาวะร้อนค่อนข้างช้า จนมีคำกล่าวว่า “ต้องเป็นโรคหานซือตู๋จึงจะมีไข้ต่ำๆ หรือไม่มีไข้”
จากทั้งอาการของผู้ป่วยและอาการที่ตรวจพบจากลิ้นและชีพจรข้างต้นจึงสรุปว่าโรคโควิด-19 นี้เป็นโรคที่สังกัดโรคระบาดเย็นชื้น(หานซืออี้)
- จากลักษณะพิเศษของภูมิอากาศขณะเกิดโรคและมีผลส่งเสริมให้โรคแพร่กระจายมากยิ่งขึ้น
จากสถิติของกรมอุทกวิทยาจีน ปริมาณน้ำฝนในเดือนมกราคม ปี 2563 มากกว่าปริมาณเฉลี่ยใน 20 ปีถึง 4.5 เท่า ภาวะฝนตกต่อเนื่องกันเข้าซ้ำเติมอากาศของอู่ฮั่นที่เป็นเมืองที่แม่น้ำลำคลอง หนองบึงมากและมีอากาศชื้นเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว และในขณะที่โรคปะทุขึ้นยังเป็นฝนในฤดูหนาวอีก สภาพแวดล้อมจึงทั้งหนาวเย็นและชื้น จากการสังเกตของ อ.ถงเสี่ยวหลินที่ลงไปตรวจศูนย์การแพทย์ในเขตอู่ฮั่นเห็นได้ชัดว่า ในวันที่อากาศกลับมาสดใส อุณหภูมิสูงขึ้น จำนวนผู้ป่วยของแผนกไข้สำหรับผู้ป่วยนอกจะลดลงอย่างเห็นได้ชัด จากวันละ100 กว่าคน ลดลงเหลือวันละ 20 กว่าคน แสดงให้เห็นว่าอากาศมีผลต่อการเกิดหรือการแพร่กระจายของโรค
ในระยะแรกที่มีการแพร่กระจายของโรคก็มีผู้ตั้งข้อสังเกตถึงการอยู่ในแนวเขตละติจูดเดียวกันในประเทศที่มีการระบาดอย่างรุนแรง อย่างไรก็ดีสภาพแวดล้อมที่เป็นอากาศหนาวชื้นไม่ได้เป็นปัจจัยชี้ขาดในการเกิดโรคนี้ เพราะเมื่อโรคได้แพร่ระบาดไปทั่วโลกไม่ว่าที่ใดก็เกิดโรคขึ้นได้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะอากาศแห้งหรือชื้น อากาศหนาวเย็นหรือร้อน ปัจจัยของการก่อโรคจึงอยู่ที่การได้รับเชื้อ เพียงแต่ภูมิอากาศก็มีส่วนโดยมีหลักฐานจากนักวิทยาศาสตร์ยืนยันว่าในอุณหภูมิเย็นและชื้นเชื้อโรคโควิด-19 จะอยู่ได้นานกว่า อากาศหนาวเย็นและชื้นมีส่วนเอื้ออำนวยต่อการมีชีวิตของเชื้อและสร้างเงื่อนไขให้เกิดการระบาดได้มาก
ดังนั้นภารกิจในการควบคุมโรคด้านหลักคือป้องกันไม่ให้รับเชื้อเข้ามาโดยตรงหรือในปริมาณมาก (โดยการสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ ไม่เอามือไปขยี้ตา จมูกโดยไม่ได้ล้างมือให้ดีก่อน) และสร้างสภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกร่างกายไม่ให้เอื้ออำนวยต่อการมีชีวิตและขยายพันธุ์ของเชื้อ (รักษาความแห้งทั้งอากาศและสถานที่อยู่อาศัย ปรับสภาพของร่างกายไม่ให้อยู่ในภาวะชื้นซึ่งเป็นบทบาทที่สำคัญของการแพทย์แผนจีนยาจีน) ส่วนการรักษาอาการโรค ก็ควรพิจารณาว่ามีภาวะร้อน 化热 ภาวะแห้ง化澡 ภาวะเลือดคั่ง 致瘀 เกิดขึ้นร่วมด้วยหรือไม่ อย่างเมื่อไม่นานมานี้มีรายงานว่าผู้ป่วยในประเทศตะวันตกรายหนึ่งถึงกับต้องผ่าตัดขาออกทั้งสองข้าง เพราะเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงขาเกิดขึ้น จึงต้องทำการแยกแยะภาวะของโรค ให้การดูแลรักษาที่เหมาะสม
ในปลายปี 2563 ยิ่งเมื่อประเทศในยุโรปและอเมริกาเข้าสู่ช่วงฤดูหนาว จำนวนผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 ผู้ที่มีอาการป่วย รวมถึงผู้ที่เสียชีวิตเพิ่มขึ้นมาก จนมากยิ่งกว่าช่วงการระบาดรอบแรก(ฤดูใบไม้ผลิ-ฤดูร้อน)ก่อนหน้านี่เสียอีก เป็นการยืนยันว่าสภาพอากาศมีผลต่อการเกิดและการแพร่ระบาดของโรค
เอกสารอ้างอิง
ถงเสี่ยวหลิน บก. หานซื้ออี้ การวินิจฉัยรักษากับการวิจัยโรปอดอักเสบจากไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ สำนักพิมพ์วิทยาศาสตร์ ปักกิ่ง มิถุนายน 2020
หวางเอี้ยนฮูย เฉินซ่าวตง บก. ลักษณะลิ้นในโรค ซืออี้ การวินิจฉัยและรักษาปอดอักเสบจากไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ด้วยแพทย์แผนจีน สำนักพิมพ์เคมีอุตสาหกรรม ปักกิ่ง มีนาคม 2020