ภาวะมีบุตรยากในทฤษฎีแพทย์จีนเกี่ยวข้องกับระบบไตและระบบชงเริ่น
หน้าที่ของระบบไตที่สำคัญคือ เก็บรักษาสารจิงซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับการเจริญเติบโต และการเจริญพันธุ์ เมื่อคนเรามีอายุมากขึ้น การทำงานของไตก็จะค่อยๆ เสื่อมลง การทำหน้าที่ของไต จึงเกี่ยวข้องกับอายุในช่วงต่างๆ ในสตรีจะแบ่งช่วงอายุเป็นรอบๆ รอบละ 7 ปี ดังข้อความที่กล่าวไว้ว่า
“หญิงเมื่ออายุได้ 7 ปี ชี่จากไตแรงขึ้นทำให้ฟันและผมเริ่มแข็งแรง.......เมื่ออายุ 14 ปี เทียนกุ่ยมาถึง (เทียนกุ่ยหมายถึงสารที่ผลักดันให้มีความสามารถในการเจริญพันธุ์) เส้นลมปราณเริ่นทะลุทะลวง เส้นลมปราณไท่ชงมีเลือดสมบูรณ์ จึงมีเลือดประจำเดือนออกมาและมีความสามารถในการมีบุตร.....เมื่ออายุ 35 ปี พลังของหยางหมิงเริ่มอ่อนลง หน้าจึงเริ่มหมองคล้ำ ผมเริ่มร่วง........เมื่ออายุ 42 ปี พลังในเส้นหยางทั้งสามเส้นที่หล่อเลี้ยงส่วนบนของร่างกายเสื่อมถอย หน้าจึงหมองคล้ำ ผมเริ่มหงอก........เมื่ออายุ 49 ปี พลังในเส้นเริ่นอ่อนแอลง พลังในเส้นไท่ชงเสื่อมถอย เทียนกุ่ยหมดไป ทางเดินของเลือดปิด จึงหมดความสามารถในการมีบุตร”
จากข้างต้นจึงเห็นได้ว่าความสามารถในการมีบุตรจะลดลงเมื่ออายุของสตรีนั้นเข้าสู่วัย 35 ปี ซึ่งสอดคล้องกับความรู้ในทางสรีรวิทยาปัจจุบันที่เห็นว่าหลังจากสตรีอายุ 35 ปี แล้วการทำงานของรังไข่จะลดลง
ดังนั้นในการรักษาภาวะมีบุตรยากในแพทย์แผนจีนโดยพื้นฐานจึงเน้นที่การบำรุงไต และบำรุงเลือดในระบบเส้นเริ่นและไท่ชงให้สมบูรณ์
อย่างไรก็ดีเนื่องจากภาวะมีบุตรยากยังเกี่ยวข้องกับปัจจัยอื่นๆ เช่น ความเครียดที่เกี่ยวข้องกับระบบตับ ภาวะชื้นที่เกี่ยวข้องกับระบบม้าม ภาวะร้อนชื้นที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบภายในอุ้งเชิงกราน ภาวะเลือดคั่งที่เกี่ยวข้องกับโรคถุงน้ำในรังไข่หรือเยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ เป็นต้น ดังนั้นในการรักษาในแต่ละคนจึงมีรายละเอียดที่แตกต่างกันออกไป