ตั้งแต่วันที่ 21 พ.ค.ที่ผ่านมา มณฑลกวางตุ้งได้เกิดการระบาดของโรคปอดอักเสบสายพันธุ์เดลต้าขึ้นหลายจุด  ในเวลาหนึ่งดือนก็สามารถควบคุมโรคไม่ให้แพร่ออกไปได้สำเร็จ   การรับมือกับโรคจากเชื้อกลายพันธุ์เดลต้าในครั้งนี้ มีประสบการณ์ใดที่สามารถนำไปใช้กับที่อื่นๆ ที่กำลังเกิดการระบาดของสายพันธุ์นี้ได้บ้าง   ลักษณะของโรคมีความแตกต่างจากที่เคยเกิดขึ้นในที่อื่นๆ ก่อนหน้านี้อย่างไร    แพทย์แผนจีนและยาจีนยังมีบทบาทหรือไม่   มีพัฒนาการและแนวทางการใช้ยาจีนเพื่อป้องกันรักษาและควบคุมอย่างไรบ้าง  

กองการแพทย์แผนจีนมณฑลกวางตุ้งได้ทำการเผยแพร่คำให้สัมภาษณ์ของผู้เชี่ยวชาญจากทีมรักษากู้ชีพคณะทำงานสหวิชาชีพเพื่อการป้องกันและควบคุมโรคแห่งชาติหน่วยมณฑลกวางตุ้งสองท่าน ได้แก่ ศ.จางจ้งเต๋อ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลแพทย์จีนมณฑลกวางตุ้ง  และ ศ.หลงหยุนหัวหน้าแผนกโรคหนักโรงพยาบาลเสียเหอ ปักกิ่ง  เมื่อวันที่ 27 มิ.ย.2564    มีสาระสำคัญดังนี้

ลักษณะพิเศษของสภาวะผู้ป่วยสายพันธุ์เดลต้าที่กวางเจา

  • ระยะฟักตัวสั้น โดยทั่วไปจะเกิดอาการขึ้นใน 3-7 วัน 
  • ผู้ป่วยจำนวนมากเป็นผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่อายุ 70 ขึ้นไป มากที่สุด 92 ปี  อายุ 80 ขึ้นไป 10 กว่าคน 
  • ผู้ป่วยมักมีโรคประจำตัวอยู่ และมีอาการแทรกซ้อนค่อนข้างมาก
  • โรคพัฒนาเร็ว  การระบาดก่อนหน้านี้ส่วนใหญ่ 7-9 วันจึงจะพัฒนาเป็นอาการหนัก  ครั้งนี้เฉลี่ยเพียง 3.3 วันเกิดเป็นอาการหนักขึ้น  ผู้ป่วยที่อาการหนักจะพัฒนาเป็นขั้นวิกฤตใน 24 ชั่วโมง   อัตราผู้ป่วยหนักและผู้ป่วยขั้นวิกฤตเป็น 15%
  • ปริมาณเชื้อมาก เวลาที่กรดนิวคลิอิกกลับเป็นลบนานขึ้น

       
ผู้เชี่ยวชาญแพทย์จีนตรวจเยี่ยมผู้ป่วยโควิด-19 สายพันธุ์กลายพันธุ์เดลต้าที่กวางเจา

 

การใช้ยาจีน

  • จากวันที่ 21 พ.ค.ถึงวันที่ 26 มิ.ย.มีผู้ป่วย 166 ราย
  • ถึงวันที่แถลงข่าว(26 มิ.ย.) มีผู้หายป่วยออก รพ. 91 ราย    ในจำนวนนี้ 67 ราย (73.6%)  ใช้ยาจีนอย่างเดียวในการรักษา    16 ราย(17.6%) ใช้การรักษาแผนปัจจุบันร่วมกับแผนจีน     8 ราย (8.8%) ไม่ทานยาจีน(เป็นเด็กเล็ก)    ผู้ป่วยใน รพ.จากการรักษาด้วยการแพทย์แผนปัจจุบันกับแผนจีนมีผู้ป่วยวิกฤต 1 รายที่สามารถถอดเครื่อง ECMO ได้  ผู้ป่วยที่มีอาการหนัก 3 ราย สามารถถอดสายออก  ผู้ป่วยอาการหนัก 8 รายอาการดีขึ้นกลับไปเป็นอาการทั่วไป   สามารถยับยั้งอาการของผู้ป่วยระดับทั่วไปที่มีแนวโน้มจะพัฒนาไปเป็นอาการหนักให้หยุดลงได้  57 ราย  

 

ลักษณะของกลุ่มอาการโรคทางแพทย์แผนจีนเมื่อเทียบกับการระบาดที่ผ่านมา

  • ฤดูนี้ทางภาคใต้ของจีนมีอากาศร้อนอบอ้าวและชื้น ผู้ป่วยมีเหงื่อออกมาก จึงมีภาวะสูญเสียชี่ออกไปตามเหงื่อ    โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยที่มีอาการหนักหรือมีไข้สูงจะแสดงออกโดยมีอาการอ่อนเพลียมาก  เบื่ออาหาร  การหายใจแผ่วอ่อน  ฝ้าลิ้นหนาเหลืองเหนียว 
  • เปรียบเทียบกับเมื่อครั้งการระบาดที่อู่ฮั่น เหอเป่ย ยูนนานและทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน อาการสำคัญที่พบในครั้งนี้ ได้แก่ มีไข้ ไข้สูง กลัวหนาว ปวดศีรษะปวดตามเนื้อตัว  ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ไอ เจ็บคอ คอแห้ง ไม่มีแรง ท้องอืด เบื่ออาหาร  และพบลิ้นสีแดง  ฝ้าลิ้นเหนียวมากขึ้น   ผู้ป่วยที่มีไข้พบมากกว่า 80%  และไข้สูง (สูงกว่า 39 องศาเซลเชียส)มีถึง 34.5%  ซึ่งสูงกว่าการระบาดครั้งที่ผ่านๆ มา
  • การวินิจฉัยทางแพทย์แผนจีน   โรคยังอยู่ในขอบข่ายของ “อี้ปิ้ง 疫病” ในแพทย์แผนจีน   โดยมีการสอดแทรกระหว่างปัจจัยก่อโรคจากอากาศร้อนกับปัจจัยชื้น 暑热与湿邪交着  กระจายไปตามซันเจียว  弥漫三焦    ปัจจัยก่อโรคจากอากาศร้อนชื้นและพิษร้อนมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว  ทำลายชี่และยิน  กลไกของโรคที่เป็นแกนกลางคือ  อากาศร้อนชื้นทำให้เกิดภาวะร้อน  พิษโรคระบาดรุกเข้าปอด  หยวนชี่เสียหายมาก 暑湿化热,疫毒侵肺,元气大虚

 

วิธีรักษาของแพทย์แผนจีนที่มีการปรับปรุงตามภาวะของโรค

  • วิธีพื้นฐานคือ ขจัดปัจจัยก่อโรคจากอากาศร้อนสลายชื้น กระจายชี่ของปอดขจัดพิษ  ทำให้ทางเดินกระเพาะลำไส้โล่งระบายร้อน  清暑化湿,宣肺解毒,通腑泄热    เพิ่มวิธีใหม่ ได้แก่ การเสริมเจิ้งชี่แต่แรก  เสริมเจิ้งชี่ตลอดทั้งกระบวนการดำเนินของโรค  早期扶正,全程扶正   โดยให้โสมซีหยางเซิน  โสมแดง-หงเซิน เปลือกส้ม-เฉินผี 
  • ผู้ป่วยที่ติดเชื้อแต่ไม่มีอาการ ผู้ป่วยที่มีอาการเบา ผู้ป่วยอาการธรรมดา  ให้การรักษาด้วยยาจีนเพียงอย่างเดียว   โดยใช้ยาที่ปรับลดจากตำรับชิงเฟ่ยผายตู๋ทัง  ฮั่วซือไป้ตู๋ฟาง 

  • ผู้ป่วยอาการทั่วไปแต่มีไข้สูงหรือมีแนวโน้มพัฒนาไปทางอาการหนักวิกฤต พิจารณาว่ามีภาวะปัจจัยก่อโรคอากาศร้อนชื้นอุดกั้น 暑热,湿温闭郁  กรณีนี้พิจารณาใช้ยาตำรับหมาซิ่งอี่กานทัง 麻杏苡甘汤    ฮั่วโผ่เซี่ยหลิงทัง 藿朴夏苓汤  หรือซันเจัยวอิ่นของอู๋ยิ่วเขอ 吴又可三焦饮  เพื่อขจัดปัจจัยก่อโรคอากาศร้อนและพิษร้อน  แก้กลุ่มอาการภายนอก  ขับชื้น  ทะลวงส่วนหยวนหมัว  透达原膜

  • กรณีผู้ป่วยเริ่มมีอาการทรุดหนัก การรักษานอกจากตามการเปี้ยนเจิ้งใช้วิธีดับร้อน ขจัดปัจจัยก่อโรคจากอากาศร้อน  ขจัดและระบายความร้อนชื้นแล้วยังใช้ยาอันกงหนิวหวงหวัน เพื่อขจัดพิษร้อนในระดับชี่  ใช้ผงหยางหลิงเจี่ยวขจัดและกระทุ้งพิษร้อน  ตัดตอนไม่ให้โรคพัฒนาไปเป็นอาการหนัก  หยุดพิษร้อนไม่ให้ย้อนกลับเข้าเยื่อหุ้มหัวใจหรือเข้าสู่ระดับอิ๋งและเลือด  หากไข้สูงเกิน 38.5  ใช้ยาจีนต้มรับประทานวันละ 2 เทียบ   6 ชั่วโมงให้ครั้งหนึ่ง  และให้อันกงหนิวหวงหวานวันละสองเม็ด  แต่ละครั้งครึ่งเม็ด  รับประทานสี่ครั้ง  ทานคนละเวลากับยาต้ม   หากไข้ไม่เกิน 38.5  ให้อันกงหนิวหวงหวันวันละ 1 เม็ด  ทานครั้งละครึ่งเม็ดวันละสองครั้ง 

  • หากผู้ป่วยมีอาการไข้สูงไม่ลด เซลล์เม็ดเลือดขาวลิมโฟไซต์ลดลง  ออกซิเจนในเลือดต่ำลง  เวลานี้ต้องระวังว่าอาการของผู้ป่วยกำลังทรุดหนัก  ควรใช้มาตรการแทรกแซง ได้แก่ ให้ออกซิเจน  ปรับท่านอน(ท่านอนคว่ำ หรือคู้เข่าหมอบ)  แต่เนิ่น

  • การประเมินดุลกำลังระหว่างไวรัสกับภูมิคุ้มกันของผู้ป่วย ได้แก่การติดตามระดับไตเตอร์ของกรดนิวคลิอิก  Lymphokine  สภาพของร่างกายในการตอบสนองต่อการอักเสบ ได้แก่ อุณหภูมิของร่างกาย อัตราการหายใจ  การขับเคลื่อนการหายใจ เป็นต้น  ซึ่งครั้งนี้ได้สร้างวิธีชุดหนึ่งในการรับมือกับสภาวะนี้

  • การให้การดูแลสภาวะจิตใจ เป็นยาชั้นดี   ดังคำกล่าวว่า 三分治疗七分护理  รักษาสามส่วน ดูแลเจ็ดส่วน

  • ในชีวิตประจำวันก็ต้องสนใจป้องกันภาวะอากาศร้อนชื้น คนกวางตุ้งมีอาหารที่เหมาะกับอากาศร้อนชื้นอยู่ เช่น แกงฟักน้ำเป็ดใส่เปลือกส้ม  หมูตุ๋นลูกเดือยใส่ดอกงิ้ว  เป็นตัวอย่างของอาหารที่เหมาะสำหรับรับประทานในระยะนี้  

การใช้ยาจีนหลังจากผู้ป่วยออกโรงพยาบาล

หลังจากออก รพ.แล้ว  ยังต้องติดตามสังเกตอาการอีก 14 วัน ผู้ที่ออกรพ.และมีสุขภาพแข็งแรงดี  มีกำหนดการออกเยี่ยมผู้ป่วยและจ่ายยาจีนตามสภาพรูปธรรม พบผู้ป่วยที่ยังมีเหงื่อออกมาก  ไม่เจริญอาหาร  มีภาวะม้ามพร่อง  อ่อนเพลียหรือมีอาการที่รอยโรคที่ปอดยังไม่หาย  

 

เรียบเรียงโดย  แพทย์จีน เภสัชกรสุทธิศักดิ์ ปวราธิสันต์

ที่มา  http://szyyj.gd.gov.cn/zwyw/tpxw/content/post_3330700.html    发布日期:2021-06-27 来源:广东省中医药局

 http://society.workercn.cn/34055/202106/28/210628132609268.shtml   来源:羊城晚报     2021-06-28